องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

Sisaket Provincial Administrative Organization

ข้อมูล

ปฏิทินกิจกรรม

ผู้ดูแลระบบ

นายก อบจ.ศรีสะเกษ เชิญชวนท่องเที่ยวงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2561

27 กุมภาพันธ์ 2561

นายก อบจ.ศรีสะเกษ เชิญชวนท่องเที่ยวงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2561

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 15.00 น.ณ ห้องประชุมถนอม อินทรกำเนิด โรงแรมศรีพฤทธาลัย ราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ นายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และผศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ ร่วมแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2561 โดยมีนายวิเชียร ถิระเลิศพานิชย์ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการีะดับจังหวัดศรีสะเกษและองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ แขกผู้มีเกียรติ คณะสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้

ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคสมัยอารยธรรมขอมโบราณยังมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมากกว่า 1,000 ปี จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ดินแดนปราสาทขอมโบราณ” นอกจากนี้พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษยังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ถือว่าเป็น “อัตลักษณ์” ของจังหวัดศรีสะเกษ คือ “เขมร ส่วย ลาว เยอ” ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการผสมผสาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมและเป็นเอกภาพ บางชุมชนหรือหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนสี่เผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างลงตัว ถึงจะมีภาษาและวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างกันก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความเป็นเอกภาพ และปัจจุบันยังมีบางหมู่บ้านที่มีการสำรวจพบว่ามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเองที่แตกต่างจากชนพื้นเมืองหลักของจังหวัดศรีสะเกษ มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับชนพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่อดีต เช่น ไทโคราช ไทบูร ผู้ไท และชาวจีน

ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า นอกจากจะมีอัตลักษณ์เกี่ยวกับชนพื้นเมือง “สี่เผ่าไทศรีสะเกษ”แล้ว ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดินแดนอารยธรรมขอมโบราณ ที่มีปราสาทขอมโบราณและร่องรอยอารยธรรมแห่งความศรัทธาที่สะท้อนให้เห็นถึง “บุญญาบารมี” ในมิติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ และ “ความกตัญญู” ของกษัตริย์ขอมที่มีต่อบรรพชนและบูรพกษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว นั่นก็คือการสถาปนาและการบวงสรวงบูชา “กมรเตง ชคตะ” (หมายถึง เทพเจ้าแห่งจักรวาลที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ทั้งปวง และยังใช้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณบูรพกษัตริย์ขอมโบราณ ) นามว่า “ศรีพฤทเธศวร” ณ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ กล่าวได้ว่า ปราสาทอาจจะมีเป็นร้อยปราสาท แต่การสถาปนา “กมรเตง ชคตะ” อาจจะมีได้เพียงแค่หนึ่งปราสาทเท่านั้น เช่น กมรเตง ชคตะ ศรีสิขเรศวร ณ ปราสาทเขาพระวิหาร / กมรเตง ชคตะ ศรีภัทเรศวร ณ ปราสาทวัดภู (ประเทศลาว) และ กมรเตง ชคตะ ศรีพฤทเธศวร ณ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ และนี่จึงเป็น “อารยธรรมแห่งความศรัทธา” และเป็นความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมขอมโบราณที่ปรากฏในจารึกและประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองของจังหวัดศรีสะเกษมาแต่โบราณ 
นอกจากความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองแล้ว จังหวัดศรีสะเกษในอดีตยังเป็นพื้นที่ที่มีต้นดอกลำดวนเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกขานว่า “ส่วยเขมรป่าดง” ศรีสะเกษจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศรีสะเกษเมืองส่วย” ความอลังการของต้นดอกลำดวนที่มากมายเหลือคณานับ กินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ยังเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในพงศาวดารว่า “เมืองศรีนครลำดวน” หรือบ้านดวนใหญ่ในปัจจุบัน

โดยปัจจุบันยังเหลือ “ดงดอกลำดวน” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า 50,000 ต้น ออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมขจรกระจายไกลในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (มักจะสิ้นสุดกลิ่นหอมเมื่อถึงวัน วิษุวัติสงกรานต์ หรือ 2 ค่ำ เดือน 5) ถือเป็นความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติหนึ่งเดียวของประเทศไทย คือ “สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ” ซึ่งเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทรา -บรมราชชนนี 80 พรรษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนแห่งนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2524 “ดอกลำดวน” ยังเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ ต่อการสร้างปราสาทขอมโบราณตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ถึงยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปรากฏให้ว่ามีการนำเอา “ดอกลำดวน” ไปสลักไว้ตามซุ้มประตูโบราณของปราสาทด้วย รวมทั้งที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ด้วย

จากที่กล่าวมาในข้างต้นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ศรีสะเกษดินแดนปราสาทขอม” / “ศรีสะเกษเมืองดอกลำดวน” และ “ศรีสะเกษเมืองชนสี่เผ่า เขมร ส่วย ลาว เยอ” อีกทั้งยังได้มีการใช้รูปปราสาทเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด รูปดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด และวัฒนธรรมชนสี่เผ่าไทศรีสะเกษ เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดด้วย  จากความสำคัญที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ และความงดงามทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกมาหลายร้อยหลายพันปี่ของกลุ่มชน 4 เผ่าไทศรีสะเกษ (เขมร ส่วย ลาว เยอ) และที่สำคัญคือ ความอลังการและความมหัศจรรย์ของต้นลำดวนมากกว่า 50,000 ต้น ที่ออกดอก ชูช่อ เบ่งบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมขจรกระจายพร้อมกันทั้งดงดอกลำดวน ความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมและความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาตินี้ จึงเป็นที่มาของ “การจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไท ศรีสะเกษ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ (2561) จะมีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณี สี่เผ่าไทศรีสะเกษ” ขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2561 และยังมีการจัดแสดง “จินตลีลา ประกอบแสดง สี เสียง” เรื่อง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ที่ยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อบอกเล่า กล่าวขานถึงประวัติศาสตร์โบราณของจังหวัดศรีสะเกษ ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์อันทรงคุณที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานับ 1,000 ปี และวีรกรรมของบรรพชนคนศรีสะเกษ ที่เคยร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองร่วมกับกษัตริย์ขอมโบราณ โดยเฉพาะ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1345 - 1393) และ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545 - 1593) จนเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในจารึกและเป็นอารธรรมอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองศรีสะเกษจากอดีตถึงปัจจุบัน

 

นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวเชิญชวนเที่ยวงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2561 โดยกิจกรรมภายในงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2561” มีกิจกรรมมากมาย

#ภาคกลางวัน
1. กิจกรรมการแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชน 4 เผ่า (ลาว เขมร ส่วย เยอ) เช่น การจำลองบ้านและการแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชน 4 เผ่า 
2. การแสดงนิทรรศการภาพเขียน งานศิลปะ ของศิลปินท้องถิ่น การแสดงภาพวาด และสาธิตการวาดภาพของศิลปินท้องถิ่น 
3. การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอต่างๆ บริเวณลานทางเข้าสวนสมเด็จ - พระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ 
4. กิจกรรมการถ่ายรูปติดแสตมป์ที่ระลึก โดยไปรษณีย์จังหวัดศรีสะเกษ
5. กิจกรรมจำหน่ายอาหารพื้นเมือง (อาหารโบราณ)

#ภาคกลางคืน  พร้อมชมการแสดงแสงเสียงยิ่งใหญ่สุดตระการตา
1. การแสดง แสง เสียง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ในคืนวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2561 เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในคืน วันที่ 7 มีนาคม 2561 เริ่มการแสดง เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป
2. การจัดจำหน่ายอาหารพื้นเมือง ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ


ตราสัญลักษณ์

ITA การวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการ อบจ.ศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ

รวมลิงค์

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์

วันนี้ :
364
สัปดาห์นี้ :
8,457
เดือนนี้ :
27,391
ทั้งหมด :
616,058

การสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการ

ช่องทางการติดต่อ/สอบถามข้อมูล (Q&A)

องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
Sisaket Provincial Administrative Orgnization
350 หมู่ 3 ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 33000
โทรศัพท์ : 045-814676 โทรสาร : 045-814677 ต่อ 0 Email : [email protected]