เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน 2558 เวลา 09.00 น. ณ วัดปราสาทเยอเหนือ(วัดหลวงปู่มุม) ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมนางสุนิสาทิพย์ ไตรสรณกุล คณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของดีปราสาทเยอ ประจำปี 2558 ของตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ นายอำเภอไพรบึง นายวิสุทธิ์ชาติ ปัญญาทรงรุจิ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ฑูตวัฒนธรรมจากตำบลหนองแก้ว อำเภอกันทรารมย์ ตำบลภูฝ้าย ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ ฑูตวัฒนธรรมจากตำบลต่าง ๆ ของอำเภอไพรบึง พี่น้องประชาชนชาวอำเภอไพรบึงและผู้มีเกียรติร่วมในพิธีนับพันคน
นางสุวภัทร อุโลก นายกองค์การบริหารส่วนตำบปราสาทเยอ กล่าวว่า การจัดครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามและเรียนรู้ขนบธรรมเนียมที่สืบทอดกันมา เป็นการส่งเสริมทำนุบำรุงกิจกรรมของพระพุทธศาสนาพุทธศาสนิกชนและประชาชนทุกภาคส่วนได้เล็งเห็นความสำคัญของการนมัสการอัฐิธาตุหลวงปู่มุม ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนตำบลปราสาทเยอ ประชาชนในเขตอำเภอไพรบึงและจังหวัดศรีสะเกษ นางสุวภัทรฯ กล่าวต่อไปว่า การจัดงานนี้เพื่อเป็นการสืบสานวิถีชีวิตและความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า ทั้ง 4 เผ่า ได้แก่ เผ่าเยอ เผ่าเขมร เผ่าลาวและเผ่ากูย ให้คงอยู่คู่สังคมศรีสะเกษและสังคมไทย เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนมีความรักและหวงแหนในขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น สร้างความสามัคคีและสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้าน วัดและส่วนราชการทุกภาคส่วน อีกทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าในพื้นที่ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้านนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษมีภารกิจมีหน้าที่ในการที่จะดูแลทุกข์สุขความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมและประเพณีในท้องถิ่น และเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว ประกอบกับชาวอำเภอไพรบึงได้มีจิตศรัทธาแรงกล้าที่จะสร้างรูปเหมือนหลวงปู่มุมซึ่งเป็นพระเกจิที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษศรีสะเกษจึงได้นำงบประมาณส่วนหนึ่งมาสนับสนุนและร่วมอนุโมทนาบุญในครั้งนี้ด้วย นายวิชิตฯ ยังกล่าวต่อไปว่า หลวงปู่มุม หรือ หลวงพ่อมุม เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็กและอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี แล้วดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตจนมรณภาพ เป็นพระภิกษุผู้ถือเคร่งทางธรรมปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ได้ฝึกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาในบริเวณเทือกเขาพนมดงเร็ก เขตจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่าง ของประเทศไทย และเดินธุดงค์เข้าไปในประเทศกัมพูชาจำพรรษาอยู่ในประเทศกัมพูชาหลายปี หลังจากนั้นจึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือ บ้านเกิด ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เยอ ตั้งถิ่นฐานอยู่ จากความสมถะ มักน้อย สันโดษและเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศานิกชนทั่วไป ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในบวรพระพุทธศาสนาและเพื่อสังคมไว้มหาศาล ถือป็นปูชนียบุคคลที่ควรกราบไหว้บูชาสักการะของปวงชนทั่ว ๆ ไป
ด้านนายวิสุทธิ์ชาติ ปัญญาทรงรุจิ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษกล่าวว่า วัดปราสาทเยอเหนือนี้ เป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อนมัสการพระครูประสาธน์ขันธคุณ หรือหลวงปู่มุม และทรงทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์หรือกฐินต้นถวาย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กับทางราชการ เพื่อสร้าง ศาลา ภ.ป.ร. ถวาย ทดแทนศาลาวัดหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จทั้งสองพระองค์อย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น เป็นภาพแห่งความประทับใจที่ชาวอำเภอไพรบึงและพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษมิเคยลืมเลือน
///ภัชราพร ตรองจิต นักวิชาการประชาสัมพันธ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ รายงาน...