กำเนิด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ.2498 มีฐานะเป็นนิติบุคคลและครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด
กว่าจะมาเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่มีโครงสร้างการบริหารงานในรูปแบบปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มีการวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยเกิดจากการจัดตั้งสภาจังหวัด ขึ้นเป็นครั้งแรก ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำแก่กรมการจังหวัด โดยยังมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้น โดยมีความประสงค์ที่จะแยกกฎหมายที่เกี่ยวกับสภาจังหวัดไว้โดยเฉพาะ แต่สภาจังหวัดยังทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของกรมการจังหวัดเช่นเดิม จนกระทั่ง ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบบริหารราชการในจังหวัดของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทำให้อำนาจของกรมการจังหวัด เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดดังนั้น ผลแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย ต่อมาได้เกิดแนวความคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” จึงเกิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ซึ่งกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกจากจังหวัด ซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้อาจแบ่งวิวัฒนาการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ยุคสภาจังหวัด (ระหว่าง พ.ศ. 2476 - 2498)
นับตั้งแต่พ.ศ. 2476 ที่ได้มีการจัดตั้งสภาจังหวัดขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ซึ่งนับเป็นจุดกำเนิดและรากฐานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด อาจกล่าวโดยสรุปถึงฐานะ อำนาจหน้าที่บทบาทของสภาจังหวัดได้ในขณะนั้นยังไม่ได้มีฐานะเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่น และ เป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาค ตามกฎหมายจึงเป็นเพียงองค์กรตัวแทนประชาชนรูปแบบหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่จังหวัด ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2476 กำหนดให้จังหวัดเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค โดยอำนาจการบริหารงานในจังหวัดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมการจังหวัด ซึ่งมีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นประธานสภาจังหวัด มีบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของจังหวัดแก่คณะกรรมการจังหวัด แต่กรมการจังหวัดไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเสมอไป
กระทั่งในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองราชการในจังหวัด สภาจังหวัดจึงเปลี่ยนบทบาท จากสภาที่ปรึกษาของกรมการจังหวัดมาเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับอำนาจหน้าที่ของสภาจังหวัด มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติสภาจังหวัดพ.ศ.2481 ได้กำหนดให้สภาจังหวัดมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ตรวจและรายงานเรื่องงบประมาณที่ทางจังหวัดตั้งขึ้น และสอบสวนการคลังทางจังหวัดตามระเบียบซึ่งจะได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้
2. แบ่งสันเงินอุดหนุนของรัฐบาลระหว่างบรรดาเทศบาลในจังหวัด
3. เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อคณะกรรมการจังหวัดในกิจการจังหวัด ดังต่อไปนี้
3.1 การรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
3.2 การประถมศึกษาและอาชีวศึกษา
3.3 การป้องกันโรค การบำบัดโรค การจัดตั้ง และบำรุงถานพยาบาล
3.4 การจัดให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ
3.5 การกสิกรรมและการขนส่ง
3.6 การเก็บภาษีอากรโดยตรง ซึ่งจะเป็นรายได้ส่วนจังหวัด
3.7 การเปลี่ยนแปลงเขตหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และเขตเทศบาล
3.8 ให้คำปรึกษาในกิจการที่กรมการจังหวัดร้องขอ
สำหรับพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ.2481 นี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2485 และ พ.ศ. 2487
ยุคก่อกำเนิด...องค์การบริหารส่วนจังหวัด (ตั้งแต่ พ.ศ. 2498 - 2540)
เนื่องจากพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้สภาจังหวัดเป็นเพียงที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ขาดอำนาจหน้าที่และกำลังเงินที่จะทำนุบำรุงท้องถิ่น ดังนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 จึงได้กำหนดให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคล และต่อมาได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด จนถึงปัจจุบันอีก 10 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2499 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 16 หน้า 122 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2499 โดยยกเลิกความที่ว่าด้วยรายได้ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในมาตรา 40 ของร่างพระราชบัญญัติเดิม และให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน
ครั้งที่ 2 พะราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2499 ให้ไว้ ณ วันที่ 17 มกราคม 2500 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 11 หน้า 307 ลงวันที่ 29 มกราคม 2500 โดยปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ ให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการปิดประชุมก่อนครบกำหนดสมัยประชุม การจัดแบ่งการบริหารราชการของจังหวัด การให้สิทธิที่จะไม่ตอบคำสอบถามแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งเพิกถอนมติ ซึ่งไม่ใช่ข้อบัญญัติจังหวัด การให้อำนาจเกี่ยวกับกิจการของจังหวัด การให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยในการวางระเบียบเกี่ยวกับการพาณิชย์ และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาจังหวัดประเภท ๒ ซึ่งสมควรกำหนดเวลาสิ้นสุดไว้
ครั้งที่ 3 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด (ฉบับที่4) พ.ศ.2506 ให้ไว้ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 80 ตอนที่ 11 ฉบับพิเศษ หน้า 13 ลงวันที่ 29 มกราคม 2506 โดยยกเลิกความที่ว่าด้วยประเภทรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติเดิม และให้ใช้ความใหม่แทนซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน
ครั้งที่ 4 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราการส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. 2509 ให้ไว้ ณ วันที่ 9 กันยายน 2509 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 83 ตอนที่ 79 ฉบับพิเศษ หน้า 22 ลงวันที่ 16 กันยายน 2509 โดยปรับปรุงแก้ไขความที่ว่าการบริหารบุคคลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในมาตรา 40
ยุคก่อกำเนิด...นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (พ.ศ. 2540 - ปัจจุบัน)
เนื่องจาก พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ได้ประกาศใช้มาเป็นเวลานานไม่เคยมีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังกำหนดให้มีการเลือกตั้งประธานสภาจังหวัดใหม่ทุกปี ทำให้เกิดการแข่งขันกันจนนำไปสู่การแตกแยกซึ่งทำให้ไม่สามารถดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ทำให้สภาตำบลทุกแห่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล และตำบลที่มีรายได้เฉลี่ยย้อนหลังสามปี 150,000.- บาท ขึ้นไปจะถูกยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดผลกระทบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 คือ ความซ้ำซ้อนในเรื่องของพื้นที่ ความซ้ำซ้อนในเรื่องของอำนาจหน้าที่และความซ้ำซ้อนในเรื่องของรายได้
ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของบรรดาสมาชิกสภาจังหวัดในทั่วประเทศขึ้นเป็นระยะ และเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อได้มีการจัดประชุมใหญ่ขึ้น ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2539 โดยได้มีการจัดตั้ง “สหพันธ์สมาชิกสภาจังหวัดแห่งประเทศไทย” ขึ้น เพื่อดำเนินการเรียกร้องให้ทางรัฐบาลออกพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขึ้นมาบังคับใช้โดยเร็ว ในที่สุดก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ขึ้นบังคับใช้ โดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 114 ตอนที่ 62ก ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 โดยมีสาระสำคัญคือให้สมาชิกสภาจังหวัดเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่หัวหน้าในฝ่ายบริหาร และให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่งตั้งสมาชิกสภาจังหวัดอีกสองคน เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ส่วนในฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังกำหนดให้สมาชิกสภาจังหวัดเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติและเลือกสมาชิกสภาจังหวัดอีกสองคนทำหน้าที่รองประธานสภานิติบัญญัติ เหมือนเดิม โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เอาไว้อย่างเป็นรูปธรรมใน หมวด 4 มาตรา 45
โดยเหตุผลของการตราพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นมาใช้นั้น ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า "โดยที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบใน พื้นที่ทั้งจังหวัดที่อยู่นอกเขตสุขาภิบาล และ เทศบาล เมื่อได้มีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในการนี้สมควร ปรับปรุงบทบาทและอำนาจหน้าที่ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้สอดคล้องกัน และปรับปรุงโครงสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น"
นอกจากเหตุผลของพระราชบัญญัติแล้ว จากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ....... ครั้งที่ 2 วันที่ 13 มีนาคม 2540 ที่ประชุมได้ระบุประเด็นวัตถุประสงค์ของการออกพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนี้
1. เพื่อจัดระบบบริหารให้มีประสิทธิภาพซึ่งปัจจุบันมีปัญหาด้านการบริหารการจัดการด้านพื้นที่ และรายได้ช้ำซ้อน
2. เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยน ตามการเปลี่ยนแปลงของการเมืองการปกครองท้องถิ่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการขยายความเจริญเติบโตของแต่ละท้องถิ่น
3. เพื่อเป็นการถ่ายโอนอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดทำหน้าที่ในการ ประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น การประสานกับรัฐบาลและตัวแทนหน่วยงานของรัฐการถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณที่เคยอยู่ใน ภูมิภาคไปอยู่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด
4. เพื่อเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น โดยจะเพิ่มอิสระให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากขึ้นด้วย โดยการลดการกำกับดูแลจากส่วนกลางลง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540หมวดที่ 9 มาตรา 284 ได้กำหนดให้มีกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมาใช้ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542ขึ้นมาบังคับใช้เพื่อถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ จากหน่วยงานในราชการส่วนภูมิภาคให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ไว้ในหมวด 2 มาตรา 17 และในวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ได้มี ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญ คือ
ฝ่ายบริหาร
ได้มีการกำหนดให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงจากประชาชนทั้งจังหวัด มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สามารถแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อช่วยเหลือในการบริหารงานตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดมีสมาชิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสี่สิบแปดคน ให้มีรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สี่คน
2. ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดมีสมาชิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสามสิบหกหรือสี่สิบสองคน ให้มีรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สามคน
3. ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดใดมีสมาชิกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยี่สิบสี่หรือสามสิบคน ให้มีรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สองคน
นอกจากนั้นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยังสามารถแต่งตั้งเลขานุการและที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือในการบริหารงานได้รวมกันไม่เกินห้าคน
ฝ่ายนิติบัญญัติ
ให้แบ่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน โดยใช้เกณฑ์ของราษฎรแต่ละจังหวัด ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนที่มีการเลือกตั้ง ดังนี้
1. จังหวัดใดที่มีราษฎรไม่เกินห้าแสนคนให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ยี่สิบสี่คนประชากรไม่เกิน 200,000 คน มีสมาชิกสภาจังหวัดได้ 18 คน
2. จังหวัดใดที่มีราษฎรไม่เกินห้าแสนคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านคน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สามสิบคน
3. จังหวัดใดที่มีราษฎรเกินหนึ่งล้านคนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนคน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สามสิบหกคน
4. จังหวัดใดที่มีราษฎรเกินหนึ่งล้านห้าแสนคนแต่ไม่เกินสองล้านคน ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สี่สิบสองคน
5. จังหวัดใดที่มีราษฎรเกินสองล้านคนขึ้นไป ให้มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้สี่สิบแปดคน
หลังจากที่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ประกาศใช้ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 14 มีนาคม 2547 และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง ได้เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการกระทรวงมหาดไทยในการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๕ โดยได้นำเอาระบบใบเหลืองใบแดง มาใช้กับผู้ที่ทุจริตการเลือกตั้ง จนเป็นเหตุให้หลายเขตเลือกตั้งต้องมีการเลือกตั้งใหม่ จนกว่าจะได้รับการับรองผลการเลือกตั้งจากคณะกรรมการเลือกตั้ง
กล่าวโดยสรุป องค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้มีการวิวัฒนาการโดยผ่านกระบวนการปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ มาเป็นลำดับจนถึงปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนจังหวัด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด มีภารกิจครอบคลุมพื้นที่จังหวัด ตามบทบัญญัติของกฎหมายคือ
1. อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 หมวด 4 มาตรา 45
2. อำนาจหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดในการจัดระบบบริหารสาธารณะตามพระราช บัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 หมวด 2 มาตรา 17
3. ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่อง การกำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2546 ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ
สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษเดิมนั้น ตั้งอยู่ภายในอำเภอเมืองศรีสะเกษ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ตั้งกับอาคารศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ต่อมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ก็ได้ก่อสร้างสำนักงานอาคารหลังใหม่ 3 ชั้น ปัจจุบันสำนักงานองค์การบริการส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่เลขที่ 350 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองไผ่ ถนนเลี่ยงเมือง อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 0 4581 4676 โทรสาร 0 4581 4677
โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานเลขานุการองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักคลัง สำนักช่าง กองสาธารณสุข กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม กองการเจ้าหน้าที่ หน่วยตรวจสอบภายใน และมีโรงเรียนในสังกัด จำนวน 39 โรงเรียน
โครงสร้างองค์กร คลิก
จำนวนบุคลากรในสังกัด
ข้าราชการ 171 คน
ลูกจ้างประจำ 14 คน
พนักงานจ้าง 68 คน
ครู 1,040 คน
ลูกจ้าง 25 คน