Click เพื่อชมภาพกิจกรรมทั้งหมด
เมื่อวันพุธที่ 26 สิงหาคม 2558 ณ ฝายน้ำล้นหนองเข็งน้อย บ้านหนองเข็งน้อย ตำบลกฤษณา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นายสมศักดิ์ นิสัยสม นายอำเภอขุขันธ์ เป็นประธานในพิธีปลูกป่าปล่อยปลาและประกาศเขตอภัยทานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีนายพะนอม ศรีบุญเรือง ประธานชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านหนองเข็งน้อย กล่าวรายงานความเป็นมาของฝายน้ำล้นบ้านหนองเข็งน้อยพร้อมให้การต้อนรับ นายทิวา รุ้งแก้ว ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิงแวดล้อม องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษและผู้มีเกียรติร่วมในพิธีจำนวนกว่า 500 คน
กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การเปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพร กล่าวถวายพระพรชัยมงคล ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ฟังปาฐกถาธรรมพิเศษ โดยพระอาจารย์มหาสง่า ปภัสสโร วัดสุเทพนิมิตร อำเภออุทุมพรพิสัย พิธีสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาเสริมบารมีประกาศเขตอภัยทาน การถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุ การปล่อยปลาหลากหลายชนิด การปลูกต้นไม้นานาชนิดทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 83 พรรษา 12 สิงหาคม 2558 และเพื่อสนองพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
นายพะนอม ศรีบุญเรือง ประธานชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านหนองเข็งน้อย กล่าวว่าเมื่อปี 2552 ได้มีการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้(บริเวณฝายน้ำล้นบ้านหนองเข็งน้อย)เป็นเขตอภัยทานประมาณ 100 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 600 กว่าไร่ โดยพื้นที่นอกจาก100 ไร่ ให้ชาวบ้านหาสัตว์ได้ตามปกติ ส่วนแนวเขตไม่ได้ขวางกั้นสัตว์ต่างๆสามารถเข้าออกได้ตามปกติสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำมีปลาหลากหลายชนิดและนกเป็ดน้ำจะเข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูแล้งจำนวนหลายหมื่นตัว โดยมีเวรยามเฝ้าดูแลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับงบประมาณจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอนุมัติงบประมาณซ่อมแซมฝายน้ำล้นพร้อมทั้งขุดลอกปรับแต่งแนวชายฝั่ง ระยะเวลาของโครงการจะสิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 2558 ชมรมและเครือข่าย ทสม.ได้เตรียมความพร้อมในการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในช่วงวันแม่แห่งชาตินี้ ซึ่งจะใช้ต้นไม้ปลูกรอบแนวชายฝั่งจำนวนนับหมื่นต้น โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานที่แห่งนี้ได้มีการทำบุญตักบาตรเป็นประจำตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ซึ่งปี 2552 ได้ประกาศเป็นเขตอภัยทาน ซึ่งได้มีการปล่อยปลา ปล่อยสัตว์ต่างๆ พร้อมปลูกต้นไม้ตลอดมา และได้รับงบประมาณเบื้องต้นจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ(อบจ.ศรีสะเกษ) โดย นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วจังหวัดศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้ประสานงาน ได้มีการร่วมกันจัดทำแนวเขตปลูกต้นไม้และมีโรงเรียนบ้านป่าใต้ เข้ามาร่วมดูแล ทำให้ประกาศเป็นเขตรักษาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในเขตอภัยทานเนื่องจากหน่วยงาน ทสจ.ศรีสะเกษ ผู้มีบทบาทเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือดูแลให้กับกลุ่มอีกทางหนึ่ง สำหรับในอนาคตจะจัดให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และคงต้องอาศัยการระดมความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายเป็นหลัก ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว