เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ณ อุทยานการเรียนรู้ขนาดย่อมศรีสะเกษ (SSK Park ) จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดและลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการมิวเซียมติดล้อ (ภาคอีสาน) จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมด้วย นายราเมศร์ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ นายนพดล จันทร์พวง รองนายกเทศมนตรีเมืองศรีสะเกษ เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทย...าลัยราชภัฎศรีสะเกษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพงษ์ เฉลิมชิต อธิการบดีสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตศรีสะเกษ นายภูวดล มิ่งขวัญ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ นายประเสริฐ กษมาพิศาล รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 28 ศรีสะเกษและยโสธร นายชอุ่ม กรไกร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษเขต 1 รวมทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน ร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาส่งเสริมนำองค์ความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์แก่เด็กและประชาชนในจังหวัดศรีสะเกษ
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติสังกัดสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ภายใต้การกำกับดูแลของสำนัก นายกรัฐมนตรีได้จัดโครงการมิวเซียมติดล้อ (ภาคอีสาน) ขึ้น โดยเป็นการจัดนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการจัดแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบใหม่เป็นการจัดสาระความรู้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ 4 ตู้ เพื่อให้บริการและสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเคลื่อนที่ไปจะแสดงให้เด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ในองค์ความรู้ที่แปลกใหม่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้กำหนดจัดแสดงที่จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่าง 22 ธันวาคม 2558- 31มีนาคม 2559 ที่อุทยานการเรียนรู้ขนาดย่อมจังหวัดศรีสะเกษ ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสและเป็นเวทีแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ให้ทั้งองค์ความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กเยาวชนและประชาชนได้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ สร้างนิสัยเสริมสร้างให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมส่งเสริมให้เด็กเยาวชนประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจในประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นคนอีสานและเกิดความภาคภูมิใจในจิตสำนึกรักบ้านเกิดเห็นความสำคัญและรักถิ่นฐานของตนเองเพื่อเป็นการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป