วันนี้(วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560) มี “พิธีเปิดอบรมผู้นำชุมชนเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ประจำปี 2560 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2560 ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ” โดยมีนายธวัช สุระบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ประธานในพิธี โดยมีนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ประธานจัดงาน
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวรายงานว่า “วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมผู้นำชุมชนในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างให้เกิดความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, มีการพัฒนาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ได้เข้าใจถึงบทบาทและภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และสามารถบริหารจัดการชุมน สร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือกันของชุมชนได้”
หากกล่าวถึงผู้นำชุมชน ในอดีตผู้นำชุมชนเกิดโดยธรรมชาติ บุคคลที่จะเป็นผู้นำชุมชนได้นั้น เบื้องต้นต้องเป็นบุคคลที่ “ใจกว้าง เสียสละ กล้าหาญ ปกป้องผู้อื่นได้ ไม่ทำร้ายคนอ่อนแอ รักความยุติธรรม อาจเรียกได้ว่าเป็น “นักเลง” คือ นักเลงแบบโบราณ นอกจากนี้ยังต้องมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางวิทยาศาสตร์และทางไสยศาสตร์ การรักษาคนป่วยด้วยเวทย์มนต์คาถาและยาสมุนไพร”
หลังจากชุมชนอยู่ภายการปกครองของระบบเมือง ชุมชนหนึ่งขึ้นต่อชุมชนหนึ่งในฐานะหมู่บ้านขึ้นต่อตำบล ในฐานะตำบลขึ้นต่อเมืองและเมืองขึ้นต่อมหานคร การแต่งตั้งผู้นำชุมชนจากมหานครลงไปยังเมือง ตำบลและหมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีการแต่งตั้งผู้นำชุมชนเดิมให้เป็นผู้นำชุมชนต่อไปและมีผู้นำสืบทอดเครือญาติจนกว่าจะเกิดวิกฤติการณ์พลิกผันด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง
ต่อมาเมื่อประเทศชาติปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ผู้นำชุมชนจึงมาจากการเลือกตั้ง พัฒนาการทางสังคมที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า “ชุมใดชุมชนหนึ่งอาจมีผู้นำชุมชนถึง 2 คน นั่นคือผู้นำชุมชนที่เกิดโดยธรรมชาติและผู้นำชุมชนที่เกิดมาจากการเลือกตั้ง บางชุมชนอาจมีผู้นำโดยธรรมชาติและผู้นำจากการเลือกตั้งอยู่ในคนเดียวกัน”
ผู้นำโดยธรรมชาติที่กล่าวถึงนี้ อาจเป็นพระสงฆ์ระดับหลวงตา,หลวงพ่อหรือเกจิอาจารย์ผู้มีญาณแก่กล้าเป็นที่เคารพนับถือศรัทธาของสมาชิกชุมชน อาจเป็น “พ่อธรรม” ที่เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม มีความสามารถทางด้านโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ สามารถปกป้อง คุ้มครอง ดูแลรักษาผู้ป่วยทางด้านจิตใจและร่างกายได้ จนเป็นที่นับถือศรัทธาของสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้อาจมีครู หมออนามัย เถ้าแก่ เศรษฐีเงินกู้หรือผู้ที่มีอิทธิพลในชุมชนและอื่นๆ
ผู้นำโดยธรรมชาติสามารถชี้นำสมาชิกชุมชนให้เลือกผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งได้ ผู้นำโดยธรรมชาติจะปกครองสมาชิกชุมชนผ่านจิตวิญญาณ ส่วนผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งจะปกครองสมาชิกชุมชนผ่านข้อบังคับ ระเบียบ กฎหมาย
การอบรมผู้นำชุมชนเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ มี 3 รุ่น คือ
- รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2560 ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- รุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2560 ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
- รุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคม 2560 ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
โดยปรกติแล้วการอบรมในลักษณะนี้จะดำเนินการโดยหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค ถ้าไม่ใช่จังหวัดก็จะเป็นอำเภอเป็นผู้จัดหรือเป็นเจ้าของโครงการ แต่สำหรับการจัดอบรมผู้นำชุมชนในครั้งนี้ จัดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษร่วมกับกรมทหารราบที่ 23 กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 21 และกองพันพัฒนาที่ 2 หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นเจ้าของโครงการและงบประมาณ ส่วนทหารเป็นสถานที่และวิทยากร
“ท้องถิ่น” คือ รากและฐานอันแท้จริงของประเทศชาติ ซึ่งหมายถึง ชุมชนหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ถ้าไม่มีท้องถิ่นหมู่บ้านจะไม่มีตำบล อำเภอ จังหวัดและประเทศชาติ ชุมชนหมู่บ้านจึงเป็นท้องถิ่นที่สำคัญที่สุด ประเทศชาติจะพัฒนา ก้าวหน้าหรือล้าหลังตัวชี้วัดอยู่ที่หมู่บ้านอย่างที่ใครๆมักพูดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน”
“ผู้นำชุมชน” ระดับหมู่บ้านจึงเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุด แน่นอนว่า สำคัญกว่านายกรัฐมนตรีและดูแลทุกข์สุขของราษฎรครอบคลุมทุกกระทรวงเหมือนนายกรัฐมนตรีและที่สำคัญกว่านั้น “ผู้นำชุมชนไม่ได้มาจากการยึดอำนาจเหมือนนายกรัฐมนตรีหลายคนในประเทศนี้”
บทบาทของท้องถิ่นจึงสำคัญมาก ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาลตำบล, เทศบาลเมือง,เทศบาลนคร,และองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงเป็นบทบาทของประชาชนระดับรากและเป็นฐานสำคัญของการเมืองการปกครองระดับประเทศ
เมื่อครั้งมีพระราชบัญญัติการถ่ายโอนหน่วยงานราชการไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อ พ.ศ. 2548 น่าแปลกมาก ที่มีกระแสต่อต้านการถ่ายโอน โดยเฉพาะเสียงต่อต้านจากข้าราชการครู ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน? พวกเขาเป็นคนท้องถิ่นนั่นเอง
ย้อนกลับมาที่ “ความปรองดอง” นับแต่ปี 2548 เกิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, และปี 2550 เกิดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ บรรยากาศการเมืองการปกครองเกิดการแตกแยกอย่างแท้จริงและเกิดกลุ่มองค์กรอันแสดงถึงความแตกแยกต่อมาจนถึงกรณี คสช.กับวัดธรรมกาย นั่นหมายถึง “วิกฤติความปรองดองระดับชาติ”
วัฒนธรรมชุมชน เมื่อเกิดวิกฤติความปรองดองระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม ผู้นำชุมชนทั้งโดยธรรมชาติและโดยการเลือกตั้งจะพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยสร้างความสมานฉันท์เพื่อให้เกิดความปรองดอง ยกตัวอย่างเช่น สามีภรรยาทะเลาะกัน, ญาติพี่น้องทะเลาะกัน ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่หรืออาจเรียกว่า “เจ้าโคตร” จะพยายามสมานรอยแผลแห่งความขัดแย้งด้วยเหตุผลที่ทำให้รอยแผลจางลงหรือหายไปและเกิดความปรองดองในลำดับต่อมา ลูกหลานทะเลาะกัน พ่อแม่,ปู่ย่าตายายรับผิดชอบ, สมาชิกในชุมชนทะเลาะกัน ผู้นำชุมชนจะเป็นผู้รับผิดชอบ
เมื่อสมาชิกในครอบครัวแตกแยกกัน สมาชิกในชุมชนแตกแยกกัน เมื่อคนในประเทศแตกแยกกัน การสร้างความปรองดองย่อมเป็นความดีงามและมีคุณค่า ดีกว่าปล่อยให้สภาพความแตกแยกและขัดแย้งดำรงอยู่อย่างนั้นหรือปล่อยให้ความแตกแยกและขัดแย้งขยายกว้างยิ่งขึ้นจนหาจุดจบไม่ได้
เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ยึดอัตตาหรือยึดตัวตนเป็นที่ตั้ง เมื่อคนสองคนแตกแยกกัน เมื่อกลุ่มสองกลุ่มแตกแยกกัน จะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปสยบยอมขอความเป็นมิตร เพราะยึดศักดิ์ศรีเป็นที่ตั้งและกลัวเสียศักดิ์ศรี ฉะนั้น จึงมีฝ่ายเป็นกลางที่มีบทบาทหน้าที่เพียงพอที่จะดึงสองฝ่ายมาเจรจากันเพื่อความปรองดองและเมื่อเกิดความปรองดองแล้วย่อมเกิดความสงบสุขสันติภาพระหว่างคนสองคน,ระหว่างคนสองกลุ่มและเป็นความสงบสุขระดับชาติ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ โดยนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ตระหนักถึงจุดสำคัญนี้ จึงมีวัตถุประสงค์ว่า
“วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมผู้นำชุมชนในครั้งนี้ก็เพื่อสร้างให้เกิดความรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์, มีการพัฒนาสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนให้ผู้นำชุมชนมีความรู้ได้เข้าใจถึงบทบาและภารกิจที่จะต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่และสามารถบริหารจัดการชุมน สร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือกันของชุมชนได้”
นี่คือความรับผิดชอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีต่อคนท้องถิ่นด้วยกัน การลงทุนเพื่อสร้างความดีงามไม่มีอะไรสูญเปล่าอย่างแน่นอน...