เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00 น.ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ นางธมลวรรณ เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เขตจังหวัดสุรินทร์ – ศรีสะเกษ และ ผศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่า ไทศรีสะเกษ ประจำปี 2562 โดยมีนายดนัย วัฒนปาณี ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ นายพิพัฒน์ นะรุน รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการจังหวัดศรีสะเกษและองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้
ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่มีความยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคสมัยอารยธรรมขอมโบราณยังมีความเจริญรุ่งเรืองในอดีตมากกว่า 1,000 ปี จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “ดินแดนปราสาทขอมโบราณ” นอกจากนี้พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษยังเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมือง ที่ถือว่าเป็น “อัตลักษณ์” ของจังหวัดศรีสะเกษ คือ “เขมร ส่วย ลาว เยอ” ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการผสมผสาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมอย่างเหมาะสมและเป็นเอกภาพ บางชุมชนหรือหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนสี่เผ่าอาศัยอยู่ร่วมกันมีการผสมผสานทางวัฒนธรรมอย่างลงตัว ถึงจะมีภาษาและวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างกันก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความเป็นเอกภาพ และปัจจุบันยังมีบางหมู่บ้านที่มีการสำรวจพบว่ามีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาเป็นของตนเองที่แตกต่างจากชนพื้นเมืองหลักของจังหวัดศรีสะเกษ มีประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันกับชนพื้นเมืองในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษตั้งแต่อดีต เช่น ไทโคราช ไทบูร ผู้ไท และชาวจีน
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า นอกจากจะมีอัตลักษณ์เกี่ยวกับชนพื้นเมือง “สี่เผ่าไทศรีสะเกษ”แล้ว ยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นดินแดนอารยธรรมขอมโบราณ ที่มีปราสาทขอมโบราณและร่องรอยอารยธรรมแห่งความศรัทธาที่สะท้อนให้เห็นถึง “บุญญาบารมี” ในมิติที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ และ “ความกตัญญู” ของกษัตริย์ขอมที่มีต่อบรรพชนและบูรพกษัตริย์ที่ล่วงลับไปแล้ว นั่นก็คือการสถาปนาและการบวงสรวงบูชา “กมรเตง ชคตะ” (หมายถึง เทพเจ้าแห่งจักรวาลที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ทั้งปวง และยังใช้เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณบูรพกษัตริย์ขอมโบราณ ) นามว่า “ศรีพฤทเธศวร” ณ ปราสาท สระกำแพงใหญ่ กล่าวได้ว่า ปราสาทอาจจะมีเป็นร้อยปราสาท แต่การสถาปนา “กมรเตง ชคตะ” อาจจะมีได้เพียงแค่หนึ่งปราสาทเท่านั้น เช่น กมรเตง ชคตะ ศรีสิขเรศวร ณ ปราสาทเขาพระวิหาร / กมรเตง ชคตะ ศรีภัทเรศวร ณ ปราสาทวัดภู (ประเทศลาว) และ กมรเตง ชคตะ ศรีพฤทเธศวร ณ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ และนี่จึงเป็น “อารยธรรมแห่งความศรัทธา” และเป็นความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมขอมโบราณที่ปรากฏในจารึกและประวัติศาสตร์การสร้างบ้านแปลงเมืองของจังหวัดศรีสะเกษมาแต่โบราณ
นอกจากความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มชนพื้นเมืองแล้ว จังหวัดศรีสะเกษในอดีตยังเป็นพื้นที่ที่มีต้นดอกลำดวนเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเรียกขานว่า “ส่วยเขมรป่าดง” ศรีสะเกษจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศรีสะเกษเมืองส่วย” ความอลังการของต้นดอกลำดวนที่มากมายเหลือคณานับ กินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ยังเป็นชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในพงศาวดารว่า “เมืองศรีนครลำดวน” หรือบ้านดวนใหญ่ในปัจจุบัน
โดยปัจจุบันยังเหลือ “ดงดอกลำดวน” ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า 50,000 ต้น ออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมขจรกระจายไกลในช่วงต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน (มักจะสิ้นสุดกลิ่นหอมเมื่อถึงวัน วิษุวัติสงกรานต์ หรือ 2 ค่ำ เดือน 5) ถือเป็นความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติหนึ่งเดียวของประเทศไทย คือ “สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ศรีสะเกษ” ซึ่งเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทรา -บรมราชชนนี 80 พรรษาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทร์บรมราชชนนี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นประธานเปิดสวนแห่งนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2524 “ดอกลำดวน” ยังเป็นสัญลักษณ์เชิงวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ ต่อการสร้างปราสาทขอมโบราณตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ถึงยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปรากฏให้ว่ามีการนำเอา “ดอกลำดวน” ไปสลักไว้ตามซุ้มประตูโบราณของปราสาทด้วย รวมทั้งที่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ด้วย
จากที่กล่าวมาในข้างต้นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ศรีสะเกษดินแดนปราสาทขอม” / “ศรีสะเกษเมืองดอกลำดวน” และ “ศรีสะเกษเมืองชนสี่เผ่า เขมร ส่วย ลาว เยอ” อีกทั้งยังได้มีการใช้รูปปราสาทเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด รูปดอกลำดวนเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด และวัฒนธรรมชนสี่เผ่าไทศรีสะเกษ เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดด้วย
จากความสำคัญที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงแสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ และความงดงามทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกมาหลายร้อยหลายพันปี่ของกลุ่มชน 4 เผ่าไทศรีสะเกษ (เขมร ส่วย ลาว เยอ) และที่สำคัญคือ ความอลังการและความมหัศจรรย์ของต้นลำดวนมากกว่า 50,000 ต้น ที่ออกดอก ชูช่อ เบ่งบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมขจรกระจายพร้อมกันทั้งดงดอกลำดวน ความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมและความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาตินี้ จึงเป็นที่มาของ “การจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไท ศรีสะเกษ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ (2561) จะมีการจัดงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณี สี่เผ่าไทศรีสะเกษ” ขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 11 มีนาคม 2561 และยังมีการจัดแสดง “จินตลีลา ประกอบแสดง สี เสียง” เรื่อง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ที่ยิ่งใหญ่อลังการ เพื่อบอกเล่า กล่าวขานถึงประวัติศาสตร์โบราณของจังหวัดศรีสะเกษ ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์อันทรงคุณที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานับ 1,000 ปี และวีรกรรมของบรรพชนคนศรีสะเกษ ที่เคยร่วมสร้างบ้านแปลงเมืองร่วมกับกษัตริย์ขอมโบราณ โดยเฉพาะ พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1345 - 1393) และ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545 - 1593) จนเป็นเรื่องราว ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในจารึกและเป็นอารธรรมอันยิ่งใหญ่ที่เชื่อมโยงความเป็นเมืองศรีสะเกษจากอดีตถึงปัจจุบัน
โดยกิจกรรมภายในงานเทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ ประจำปี 2562” มีกิจกรรม ดังนี้
ภาคกลางวัน
1. กิจกรรมการแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชน ๔ เผ่า (ลาว เขมร ส่วย เยอ) เช่น การจำลองบ้านและการแสดงประเพณี ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชน ๔ เผ่า
2. การแสดงนิทรรศการภาพเขียน งานศิลปะ ของศิลปินท้องถิ่น การแสดงภาพวาด และสาธิตการวาดภาพของศิลปินท้องถิ่น
3. การแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของอำเภอต่างๆ บริเวณลานทางเข้าสวนสมเด็จ - พระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ
4. กิจกรรมจำหน่ายอาหารพื้นเมือง (อาหารโบราณ)
ภาคกลางคืน
1. การแสดง แสง เสียง “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร” ในคืนวันที่ 8- 10 มีนาคม 2562 โดยจะมีการซ้อมใหญ่เหมือนจริง ในวันที่ 6 มีนาคม 2562 ในช่วงเย็น เริ่มเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
2. การจัดจำหน่ายอาหารพื้นเมือง ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ