อบจ.ศรีสะเกษ จัดอบรมเพิ่มมูลค่าการแปรรูปทำปุ๋ย และผลิตภัณฑ์จักสาน จากผักตบชวา
--------------------------------------------------
วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนศาสตร์พระราชา บริเวณฝายน้ำล้นบ้านหนองเข็งน้อย หมู่ 10 ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ
นายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้ นายวิเชียร ถิระเลิศพานิชย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การแปรรูปทำปุ๋ยและผลิตภัณฑ์จักสานจากผักตบชวา โดยมีนายปรีชา พรมทา ผู้อำนวยการสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนายสุวรรณ เนตรเนติกุล ปลัดอาวุโสอำเภอขุขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลกฤษณา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกฤษณา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 หมู่ 12 ผู้นำชุมชน ประธานชมรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชนบ้านหนองเข็ง และผู้เข้ารับการอบรมกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำชุมชน จิตอาสา กลุ่ม อถล.และ ประชาชนในพื้นที่ จำนวน 100 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรจาก หน่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53
ตามมาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ คุ้มครอง ดูแล บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบกับรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผักตบชวา และวัชพืชในแหล่งน้ำทั่วประเทศ เนื่องจากมีการแพร่พันธุ์และขยายปริมาณอย่างรวดเร็ว ทั้งในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการวางแผนการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อเตรียมรับน้ำหลากในฤดูฝนปี 2563 โดยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการทำงานร่วมกันในการกำจัดผักตบชวา และวัชพืชในแหล่งน้ำให้ต่อเนื่อง และยั่งยืน
ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผักตบชวา เกิดผลสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้จัดอบรมโครงการดังกล่าวขึ้น โดยสำนักการช่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 29-30 กรกฎาคม 2563 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนศาสตร์พระราชา บริเวณฝายน้ำล้นบ้านหนองเข็งน้อย หมู่ 10 ต.กฤษณา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำให้เกิดผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งมุ่งเน้นให้ประชาชน จิตอาสา ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนให้มีความสามัคคี สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ แม่น้ำ ลำคลอง และช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน
หลังจากเปิดโครงการเสร็จเรียบร้อย นายวิเชียร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ก็ได้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ห้องเรียนศาสตร์พระราชา พร้อมชมสะพาน บริเวณฝายน้ำล้นบ้านหนองเข็งน้อย ซึ่งได้งบประมาณการก่อสร้างจาก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป